เด็กที่มีสมาธิสั้น อาจทำให้ผู้ปกครองหลายๆ บ้านมีความกังวลไม่น้อย เพราะพฤติกรรมของลูกหลานจะแสดงออกในลักษณะหงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์  อยู่เฉยๆ ไม่ค่อยได้ ความอดทนต่ำ จดจ่อกับสิ่งที่ทำไม่ได้นาน แต่รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ หากพวกเขาได้รับการดูแลอย่างใส่ใจ

 

วันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจ ‘โรคสมาธิสั้น’ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลเด็กๆ ที่มีปัญหานี้กัน!

 

โรคสมาธิสั้น (ADHD) คืออะไร?

 

โรคสมาธิสั้น หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) คือภาวะการผิดปกติทางจิตเวช ทำให้มีสมาธิสั้นกว่าปกติ เด็กที่มีภาวะนี้จะมีพฤติกรรมควบคุมความเคลื่อนไหวของตัวเองไม่ค่อยได้เท่าที่ควร จึงแสดงออกมาในลักษณะซุกซน ขาดความรับผิดชอบ วอกแวกง่าย อยู่นิ่งไม่ได้ เวลามีคนพูดคุยด้วยก็จะไม่ค่อยรับฟัง รวมถึงมีปัญหาเรื่องการเก็บรายละเอียดของบทสนทนา ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

 

มองผิวเผินอาจดูเหมือนพฤติกรรมเด็กดื้อทั่วไป แต่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการลูกหลานอย่างใกล้ชิดว่าเป็นแบบนี้บ่อยเกินไปหรือไม่ และถ้าหากไม่มั่นใจ ขอแนะนำให้ปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อเตรียมตัวดูแลเด็กๆ อย่างถูกวิธี

 

ซึ่งสาเหตุของโรคนี้เกิดจากสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองทำงานน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะในพาร์ทของสมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย สมาธิ ความจดจ่อ และความยับยั้งชั่งใจ เด็กที่เป็นโรคนี้จึงมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ การใช้ชีวิตทำกิจวัตรประจำวัน และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้คนรอบข้าง

 

 

วิธีการดูแลเมื่อลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น 

 

ด้วยความที่โรคสมาธิสั้นสามารถดูแลพฤติกรรมให้หายได้ในอนาคต หากได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธี ดังนั้นบุคคลสำคัญนอกจากการแพทย์ คุณพ่อ คุณแม่ รวมถึงสมาชิกครอบครัวทุกท่านแล้ว คุณครูยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยฝึกฝนและส่งเสริมให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองในระยะยาวต่อไปได้

 

โดยแนวทางที่คุณครูใช้สำหรับดูแลเด็กสมาธิสั้น มีดังนี้

 

1. วางกฎระเบียบ และตารางทำกิจกรรมอย่างชัดเจน เช่น เขียนการบ้านบนกระดานดำอย่างชัดเจน และสั่งงานเด็กด้วยรูปประโยคที่สั้นที่สุด โดยเน้นฝึกให้เด็กทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จทีละอย่างไป ก่อนจะเริ่มป้อนคำสั่งใหม่ ซึ่งหลังจากสั่งเสร็จควรถามเด็กกลับด้วยว่าคุณครูสั่งสิ่งนี้เพื่ออะไร เพื่อยืนยันคำสั่งและทบทวนความเข้าใจของเด็ก

 

2. จัดที่นั่งเรียนสำหรับเด็กสมาธิสั้นให้อยู่ใกล้คุณครูมากยิ่งขึ้น เช่น ให้นั่งหน้าชั้นเรียน หรือนั่งท่ามกลางเพื่อนๆ ที่มีวินัย ไม่พูดคุยระหว่างเรียน เพื่อที่จะได้คอยกระตุ้นและกำชับให้เด็กมีความตั้งใจในการเรียนมากขึ้น ดังนั้นหากลูกหลานของเรามีภาวะสมาธิสั้น ควรแจ้งคุณครูไว้เบื้องต้น เพื่อเลี่ยงให้เด็กไม่นั่งหลังห้องเรียน ที่อาจถูกกระตุ้นให้เสียสมาธิได้ง่ายขึ้น

 

 

3. ชื่นชมเมื่อทำงานเสร็จตามที่ได้รับมอบหมาย เมื่อเด็กทำสิ่งที่มีประโยชน์ ทำการบ้านส่งทันตามกำหนด หรือทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ คุณครูจะเอ่ยทำชื่นชมทันที เพื่อย้ำเตือนพฤติกรรมที่ถูกต้อง ทำให้เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นได้เข้าใจ และรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง 

 

4. เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมก่อกวน หรือกระทำความผิด คุณครูจะใช้วิธีการจัดคะแนน งดเวลาพัก ทำเวร เบี่ยงเบนความสนใจ หรือแยกให้อยู่ตามลำพัง รอให้จิตใจสงบมากขึ้น โดยเลี่ยงการลงโทษรุนแรง หรือดุว่าโดยตรง เพราะจะเป็นการเร้าให้เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นเสียการควบคุมตัวเองมากยิ่งขึ้น

 

5. เมื่อเด็กเริ่มเบื่อหน่ายกับการเรียน คุณครูจะใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจกลับมาแบบไม่ให้เด็กรู้สึกเสียหน้า เช่น เรียกให้ช่วยแจกสมุด ลบกระดานดำ หรือเคาะโต๊ะนักเรียนเบาๆ เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีการช่วยเหลือแบบพิเศษ เช่น สอนเสริมแบบตัวต่อตัว อนุญาตให้บันทึกเสียงคุณครูกลับไปฟัง หรืออนุญาตให้พิมพ์งาน หากเด็กมีพัฒนาการด้านเขียนช้ากว่าปกติ

 

ไม่เพียงเท่านี้ การดูแลเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นยังต้องอาศัยความเข้าใจของคุณครูเป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณครูที่ดูแลเด็กๆ เหล่านี้จึงเป็นผู้ที่มีวิจารณญาณที่เหมาะสม ตัดสินใจกับเหตุการณ์ตรงหน้าได้ดี เช่น ให้เวลาในการสอบของสมาธิสั้นมากกว่าปกติ หมั่นมองหาจุดดีของพวกเขา สนับสนุนให้เด็กแสดงความสามารถออกมาอย่างมั่นใจ ช่วยให้เพื่อนยอมรับ และติดต่อกับผู้ปกครองเด็กเป็นประจำ เพื่อวางแผนหาทางดูแลเด็กร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ที่สำคัญด้านผู้ปกครองเองควรเปิดใจยอมรับ ไม่คิดว่าเด็กเพียงแค่แกล้งดื้อ หรือแกล้งเรียกร้องความสนใจ เพื่อค่อยๆ ปรับเลี้ยนพฤติกรรมของเด็กให้ดีขึ้น ช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

 

 

แนวทางการศึกษาของเด็กสมาธิสั้น

 

เป็นคำถามที่ค่อนข้างพบบ่อยว่า เด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นควรเข้าโรงเรียนเฉพาะทางหรือไม่? คำตอบของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวเท่าไรนัก เพราะก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าโรงเรียนเฉพาะทางของโรคนี้ยังไม่มี แต่ในปัจจุบันมีโรงเรียนทางเลือกที่มีความยืนหยุ่น โดยหลักสูตรของโรงเรียนทางเลือกบางแห่งจะเน้นพัฒนาทักษะต่างๆ ให้เหมาะสมกับวัย มุ่งมั่นจะจัดการศึกษาแบบองค์รวมเพื่อพัฒนาเด็กๆไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ มากกว่าแค่การท่องจำและวิชาการดังโรงเรียนทั่วไป ที่อาจไม่สามารถจะตอบโจทย์ของเงื่อนไขเฉพาะและความหลากหลายของเด็กทุกคนได้

 

และเนื่องจากเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจลูกหลานของตนเองอย่างใกล้ชิด ว่าพวกเขาแค่มีพฤติกรรมดื้อบ้างตามประสาของวัยเด็ก หรือมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายโรคสมาธิสั้นกันแน่ 

 

โดยวิธีจัดการในเบื้องต้นสำหรับครอบครัวคือให้ลูกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ลดสิ่งเร้ารอบตัว เช่น จัดห้องนอนให้มีความเงียบสงบ ไม่มีโทรทัศน์เปิดรบกวน จัดเก็บข้าวของในบ้านให้เป็นระเบียบ หรือเวลาที่ลูกนั่งทำการบ้าน ไม่ควรมีสิ่งรบกวนอื่นๆ มาเบี่ยงเบนความสนใจได้ เป็นต้น 

 

สุดท้ายนี้ หากผู้ปกครองของเด็กเปิดใจยอมรับกับโรคสมาธิได้อย่างแท้จริง จะช่วยให้พวกเขาลดความเครียดในครอบครัว ป้องกันโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดระแวง รวมทั้งยังเป็นแรงเสริมให้เค้ามีความสุขกับการเรียน ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสมวัย

 

"โรงเรียนนานาชาติวันเดอร์แวลี่ย์" เป็นชุมชนเเห่งการเรียนรู้ที่มุ่งมั่นจะจัดการศึกษาแบบองค์รวมเพื่อพัฒนาเด็กๆ ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งทางกายภาพ ทางอารมณ์ ความคิด และจิตวิญญาณ สอบถามเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของเรา สอบถามเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของเรา