ต้องเลี้ยงลูกอย่างไรให้ฉลาด อารมณ์ดี? นี่คงนะเป็นหนึ่งในคำถามลำดับต้นๆ ที่อยู่ในใจของผู้ปกครองทุกท่าน เพราะใครๆ ย่อมต้องการที่จะเห็นทายาทของตนเป็นคนฉลาดรอบรู้ มีไหวพริบ เข้าสังคมได้ รวมทั้งสามารถพึ่งพาตัวเองได้เมื่อเขาโตขึ้น แม้ว่าความฉลาดของลูกนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถกระตุ้นและเสริมสร้างได้เช่นกัน เพียงแต่ผู้ปกครองต้องเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม และการอบรมเลี้ยงดูใดบ้างที่จะส่งผลให้ลูกน้อยเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี 

บทความนี้ได้รวบรวมวิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาด อารมณ์ดี และมีความสุขมาฝากกัน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า การพัฒนา IQ (ความฉลาดทางด้านสติปัญญา) และ EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) ของลูกน้อยไปพร้อมๆ กันนั้น ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

 

เลี้ยงลูกให้ฉลาดต้องรู้จัก “ความฉลาดทางอารมณ์”

ก่อนจะไปดูเคล็ดลับวิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาด มาทำเข้าใจเรื่องของ IQ และ EQ กันก่อน เชื่อว่าหลายคนคงทราบอยู่แล้ว IQ (Intelligence Quotient) คืออะไร เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนสนใจกันมานาน จึงจะไม่ลงรายละเอียดมากนัก แต่เรื่องของ EQ (Emotional Quotient) ที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งได้รับความสนใจอยู่ในลำดับที่น้อยกว่า คือสิ่งที่จะกล่าวถึง ดังต่อไปนี้

ความฉลาดทางอารมณ์ คืออะไร?

ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น รวมทั้งมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง และเลือกการแสดงออกได้อย่างเหมาะสม นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าความฉลาดทางอารมณ์นั้นเชื่อมโยงกับการมีความสุข เนื่องจากความฉลาดทางอารมณ์เป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพจิตที่ดี และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นนั่นเอง อีกทั้งเด็กที่มี EQ ที่ดีนั้นมักจะตามมาด้วยการมี IQ ที่ดีไม่แพ้กัน

 

ความฉลาดทางอารมณ์ 5 ประการ คืออะไร?

ดร. แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Working with Emotional Intelligence” ได้อธิบายถึงแนวคิดเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ 5 ประการ ดังนี้

1. การตระหนักรู้อารมณ์ตนเอง (Self-Awareness) หมายถึง ความสามารถในการระบุ รับรู้ และเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการของตนเองได้

2. การควบคุมอารมณ์ของตนเอง (Self-Regulation) หมายถึง ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ นอกจากความเข้าใจ ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ควรที่จะตระหนักถึงการแสดงออกที่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ควบคุมและจัดการอารมณ์ด้านลบได้อย่างเหมาะสม

3. การสร้างแรงจูงใจให้แก่ตนเอง (Self-Motivation) หมายถึง การมีแรงจูงใจในตัวเอง สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับตนเองในการที่จะบรรลุเป้าหมาย ผลักดันตนเองด้วยความพยายาม

4. การเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น (Recognising Emotions in Others) หมายถึง ความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น รวมทั้งมีวิธีปฏิบัติและแสดงออกต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์

5. ทักษะทางสังคม (Social Skills) หมายถึง ความสามารถ ในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น เข้าใจว่าต้องสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นด้านการพูด การแสดงท่าทาง การแสดงออกทางสีหน้า และภาษากาย

จากแนวคิดพื้นฐานของความฉลาดทางอารมณ์ทั้ง 5 จะเห็นได้ว่าความฉลาดทางอารมณ์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นปัจจัยที่มีผลกับการคิด การตัดสินใจ การจัดการตัวเอง และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างเหมาะสม เมื่อพอจะเข้าใจเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์กันแล้ว มาดูหลักการเลี้ยงดูลูกให้ฉลาด อารมณ์ดี เสริมสร้างทั้ง IQ และ EQ ของลูกน้อยกัน

 

1. พูดคุยถามตอบกับลูก

 

การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต หลายๆ ครอบครัวอยู่ด้วยกันแต่ขาดการพูดคุยสื่อสารที่เหมาะสม ทำให้เด็กไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร ขาดการพัฒนาในเรื่องของคลังคำศัพท์ การใช้ประโยคสื่อสารที่เหมาะสม รวมทั้งความมั่นใจในการใช้ภาษา การพูดคุยถามตอบกับลูกอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่พยายามกดดันหรือเน้นความถูกต้องมากจนเกินไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น ข้อสำคัญคืออย่าเป็นฝ่ายที่พูดเองอยู่ฝ่ายเดียว ต้องเป็นการผลัดกันถามตอบกับลูกจึงจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ 

นอกจากความสามารถด้านภาษาแล้ว งานวิจัยยังพบว่า การพูดคุยกับลูกบ่อยๆ ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้เหตุผล และความเข้าใจในเรื่องของสิ่งต่างๆ รอบตัว นับเป็นเคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ดีได้แบบง่ายๆ ไม่ต้องใช้ต้นทุน

 

 

2. เล่นกีฬาและออกกำลังกาย

 

อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์มากมาย การเลี้ยงลูกให้ฉลาดก็จำเป็นต้องให้ลูกได้รู้จักออกแรงไปกับการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว พัฒนากำลังกายและความคล่องตัวแล้ว ยังช่วยเสริมทักษะการรู้คิด (Cognitive Skills) 

นอกจากนี้ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาหลังการออกกำลังกายอย่างเอ็นโดรฟิน (Endorphin) จะช่วยทำให้เด็กๆ อารมณ์ดี ผ่อนคลาย เสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง ปราศจากความกังวล และช่วยให้หลับสนิทได้ง่ายขึ้น

 

3. อาหารถูกต้องตามหลักโภชนาการ

 

โภชนาการเป็นส่วนสำคัญในการเลี้ยงลูกให้ฉลาด อารมณ์ดี เรียกได้ว่านับตั้งแต่ 150 วันแรกหลังลืมตาขึ้นมาดูโลกของทารกน้อย การรับสารอาหารจากนมแม่อย่างเพียงพอ ก็ส่งผลกับพัฒนาการสมองของเด็กน้อยอย่างมาก และเมื่อเริ่มทานอาหารได้ การได้รับสารอาหารครบถ้วน จะทำให้พัฒนาการของสมองเป็นไปได้ด้วยดี ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี 

ในอีกมิติหนึ่งนอกเหนือจากด้านโภชนาการ การสอนให้รู้จักรับประทานอาหารที่หลากหลายจะช่วยปลูกฝังให้เด็กๆ รู้ว่าสิ่งใดที่มีประโยชน์ สิ่งใดไม่มีประโยชน์ เพราะอะไร ถ้าหากเด็กๆ ต้องการรับประทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์บ้างเป็นบางครั้ง ผู้ปกครองควรคอยแนะนำอย่างใกล้ชิดว่า สามารถทานได้ แล้วอธิบายว่าไม่ควรทานมากจนเกินไปเพราะเหตุใด

 

4. ซัพพอร์ตทางใจ

 

หนึ่งในส่วนสำคัญของการเลี้ยงลูกให้ฉลาด อารมณ์ดีนั่นก็คือผู้ปกครองจะต้องสามารถเป็นที่พึ่งพาทางอารมณ์และจิตใจให้กับลูกตั้งแต่เริ่มจำความได้ นอกจากนี้ยังควรฝึกให้ลูกมีความเข้าใจเรื่องอารมณ์และความรู้สึกของตนเองผ่านการพูดคุยถามตอบ เช่น เมื่อลูกโกรธ เศร้า ดีใจ ตื่นเต้น ก็พูดคุยให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่รู้สึกนั้นคืออารมณ์ใด มีสาเหตุมาจากอะไร

ความเข้าใจในอารมณ์และสิ่งที่ตนกำลังรู้สึก เปรียบเสมือนเกราะป้องกันที่เสริมสร้างจิตใจของลูกให้แข็งแรงเมื่อเติบโตขึ้น ชีวิตเรานั้นไม่อาจหลีกหนีความผิดหวังได้ แต่ถ้าหากผู้ปกครองปลูกฝังความเข้าใจในอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้ลูกว่าแม้จะรู้สึกผิดหวังกับอะไรก็ตาม แต่คุณจะยังคงอยู่เคียงข้างคอยผลักดันและให้กำลังใจอยู่เสมอ ก็จะทำให้เด็กเติบโตมาอย่างรู้สึกอบอุ่นใจ และมีความฉลาดทางอารมณ์สูง

 

 

5. พาลูกไปสัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติ

 

การใช้เวลากับธรรมชาติไม่ใช่แค่เพียงเพื่อสร้างความสุนทรี หรือทำให้รู้สึกสดชื่นชั่วครั้งคราว การใกล้ชิดธรรมชาติคือสิ่งจำเป็น ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กเกิดความคิดความสงสัย รวมทั้งการพยายามหาคำตอบ เริ่มมีความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงต่างๆ ในธรรมชาติรอบตัว เสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ลดความวิตกกังวล เพิ่มความมั่นใจในตนเองให้กับเด็ก

 

6. ส่งเสริมให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

 

การฝึกให้ลูกเห็นคุณค่าของตนเองนั้นสำคัญกว่าที่คิด นอกจากเหนือจากความต้องการอยากเห็นลูกเป็นคนเก่งและฉลาดรอบรู้ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจว่าการเป็นคนเก่งหรือฉลาดนั้น ย่อมสำคัญน้อยกว่าการเป็นตัวของตัวเองของลูก การส่งเสริมอยากให้เห็นลูกเป็นเด็กที่ฉลาดและอารมณ์ดีนั้นไม่ผิด แต่ไม่ควรกดดันหรือพยายามมากจนเกินไป 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ลูกเข้าใจว่าตนเองนั้นมีคุณค่าในแบบที่ตนเป็น การเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่าของตนเองจะทำให้กลายเป็นคนคิดบวก รู้และเข้าใจตนเองได้ดี สามารถต้านทานกับอุปสรรคและความผิดหวัง ทำให้ไม่ย่อท้อต่อการเรียนรู้และลองผิดลองถูกโดยง่าย

 

7. สอนให้ลูกรู้จักรักตัวเองและรักคนอื่น

 

เมื่อสามารถสอนให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเองได้ การรักตัวเองคือสิ่งที่จะตามมาติดๆ การรักตัวเองนั้นไม่เกี่ยวกับการเป็นคนหลงตัวเองหรือเห็นแก่ตัว แต่หมายถึงการเห็นคุณค่าของตนเอง ให้อภัยตนเองเมื่อทำผิดพลาดและไม่เป็นดังใจหวัง และไม่คิดที่จะทำร้ายตัวเอง หรือยอมให้ผู้อื่นเอาเปรียบและทำร้ายตนเอง หากสอนให้ลูกรู้จักรักตนเองได้ ลูกจะมีความสามารถในการพิจารณาและแยกแยะสิ่งที่ดีและไม่ดีต่อตนเอง เมื่อต้องออกนอกบ้านหรือห่างไกลครอบครัว ลูกจะพาสามารถพาตนเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีกับตนเอง 

เมื่อสอนให้ลูกรักตัวเองแล้ว อย่าลืมสอนให้ลูกไม่ทำร้ายผู้อื่น รวมทั้งเผื่อแผ่ความรักให้แก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยง คนในครอบครัว พี่น้อง เพื่อน คุณครูหรือผู้ดูแล

 

girl reading book

 

8. อ่านหนังสือกับลูก

 

การพัฒนาสมองและเรียนรู้ที่ดีจะขาดการอ่านหนังสือไปได้อย่างไร จากการศึกษาพบว่าพ่อแม่สามารถเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์มารดา การอ่านหนังสือให้ลูกฟังมีผลกับพัฒนาการของลูก ไม่ใช่แค่พัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ภาษาเท่านั้น แต่หมายถึงการเรียนรู้ถึงสิ่งใหม่ต่างๆ ที่ลูกอาจไม่เคยรู้และเห็นมาก่อน การอ่านหนังสือกับลูกโดยเลือกให้เหมาะสมกับวัยจึงเป็นกิจกรรมที่ควรทำให้เป็นกิจวัตร เพราะนอกจากจะดีต่อการพัฒนาสมองแล้ว ยังทำให้ลูกรักการเรียนรู้และการรักการอ่าน

 

9. เลือกโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบองค์รวม

 

เมื่อลูกน้อยต้องออกจากการอยู่กับสถาบันครอบครัวตลอดเวลา สถาบันถัดมาที่ลูกน้อยต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งก็คือสถาบันการศึกษา การเลือกสถานศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดี หากเป็นไปได้การเลือกโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบองค์รวมที่มีการจัดการการเรียนรู้โดยคำนึงถึงพัฒนาการและภาวะของเด็กในทุกๆ มิติ อีกทั้งยังเข้าใจถึงความหลากหลายของบุคคล ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา การรู้คิด สุนทรียภาพ เพราะนั้นหมายถึงการให้ลูกได้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้คำนึงถึงแต่การพัฒนาสติปัญญา แต่ให้คุณค่ากับพัฒนาการและภาวะของเด็กอย่างรอบด้าน

 

READ ALSO: 

เลือกโรงเรียนให้ลูกอย่างไร? โรงเรียนทางเลือก มีแบบไหนบ้าง?

 

สรุป

 

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงลูกให้ฉลาดและอารมณ์ดีได้นั้น จะต้องอาศัยทั้งปัจจัยภายภายนอกและการสิ่งแวดล้อมรอบตัวอื่นๆ อยู่หลายประการ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และเลือกทำกิจกรรมที่มีประโยชน์เมื่อลูกอยู่บ้าน และการเลือกสถานศึกษาให้กับลูกจึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน ผู้ปกครองจำเป็นต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ต้องจำขึ้นใจว่า อย่าเผลอสร้างความกดดันให้กับเด็กๆ เพราะการพัฒนาที่ดีนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเด็กๆ ไม่มีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำ ดังที่ได้บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า EQ ที่ดีจะที่ดีนั้นมักจะตามมาด้วยการมี IQ ที่ดีไม่แพ้กัน